งานวิจัยพีชคณิตนามธรรม ของ เอ็มมี เนอเทอร์

ถึงแม้ว่าทฤษฎีบทของเนอเทอร์จะส่งผลต่อทฤษฎีกลศาสตร์ดั้งเดิมและกลศาสตร์ควอนตัมอย่างมาก แต่เนอเทอร์เป็นที่รู้จักมากกว่าในฐานะนักคณิตศาสตร์ด้านพีชคณิตนามธรรม นาทาน จาค็อบสัน ระบุไว้ในบทนำของ Noether's Collected Papers ว่าความก้าวหน้าของพีชคณิตนามธรรม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่พิเศษที่สุดของคณิตศาสตร์ในสมัยศตวรรษที่ 20 เป็นผลงานของเนอเทอร์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในงานวิจัยที่ติพิมพ์ ในห้องบรรยาย หรือด้วยอิทธิพลส่วนตัวของเธอที่มีต่อนักคณิตศาสตร์ร่วมสมัย[8] มีบางครั้งที่เนอเทอร์ยอมให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกศิษย์ของเธอตีพิมพ์แนวคิดของเธอเอง เพื่อช่วยเหลือให้พวกเขาสร้างอาชีพทางวิชาการได้[9]

งานของเนอเทอร์ในสาขาพีชคณิตปรากฎเป็นครั้งแรกในปี 1920 เนอเทอร์ตีพิมพ์งานวิจัยร่วมกับ W. Schmeidler โดยนิยามไอดีลซ้ายและไอดีลขวาในริงใด ๆ เป็นครั้งแรก และในปีถัดมาเนอเทอร์ตีพิมพ์อีกงานวิจัยชื่อ Idealtheorie in Ringbereichen ("ทฤษฎีของไอดีลในโดเมนริง") โดยวิเคราะห์สมบัติ ascending chain condition ของไอดีล เออร์วิง แคปลันสกี นักพีชคณิตที่มีชื่อเสียง กล่าวว่างานดังกล่าวเป็นงานที่ "ปฏิวัติวงการ" (revolutionary)[10] อิทธิพลของบทความวิจัยชิ้นนี้นำไปสู่ที่มาของชื่อ ริงแบบเนอเทอร์ (Noetherian ring) ซึ่งเป็นริงที่สอดคล้องเงื่อนไขดังกล่าว ตลอดจนการตั้งชื่อวัตถุทางคณิตศาสตร์ที่คล้ายคลึงกันว่าวัตถุแบบเนอเทอร์ (Noetherian)[10][11]

ในปี 1924 เบ.เอ็ล. ฟัน เดอร์ วาร์เดิน นักคณิตศาสตร์ชาวดัตช์ เดินทางมายังมหาวิทยาลัยเกิททิงเงินและร่วมงานกับเนอเทอร์ เนอเทอร์เสนอมุมมองทางนามธรรมให้แก่เขาจำนวนมาก ในภายหลังเขาเล่าว่าความคิดริเริ่มของเนอเทอร์นั้น "สุดจะหาใครเปรียบได้" (absolutely beyond comparison)[12] ในปี 1931 เขาตีพิมพ์หนังสือ Moderne Algebra ซึ่งกลายเป็นตำรามาตรฐานในสาขาพีชคณิตนามธรรม เล่มที่สองของหนังสือดังกล่าวมาจากงานของเนอเทอร์ในหลายส่วน ถึงแม้ว่าเนอเทอร์จะไม่ได้แสวงหาชื่อเสียงหรือการยอมรับว่าเป็นเจ้าของงานดังกล่าว แต่ฟัน เดอร์ วาร์เดิน ได้ระบุไว้ในฉบับตีพิมพ์ครั้งที่เจ็ดว่าตำราฉบับนี้ "บางส่วนมาจากคำบรรยายของ E. Artin และ E. Noether"[13][14][9]

นอกจากฟัน เดอร์ วาร์เดิน แล้ว ยังมีนักคณิตศาสตร์จำนวนมากที่เดินทางมายังเกิททิงเงิน ในยุคนั้นเกิททิงเงินเป็นศูนย์รวมการวิจัยทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ในปี 1926 จนถึง 1930 ปาเวล อะเลกซันดรอฟ นักทอพอโลยีชาวรัสเซีย เดินทางมาบรรยายที่เกิทเทิงเงิน เขาและเนอเทอร์กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน เขาเรียกเนอเทอร์ว่า der Noether โดยใช้คำหน้าคำนามเพศชายในภาษาเยอรมันเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เนอเทอร์ เนอเทอร์พยายามจัดการให้อะเลกซันดรอฟได้บรรจุเป็นอาจารย์ที่เกิงทิงเงิน แต่ไม่สำเร็จ[15][16] เนอเทอร์และอะเลกซันดรอฟพบเจอกันบ่อยครั้ง และสนทนาถึงหัวข้อร่วมกันระหว่างพีชคณิตกับทอพอโลยี ในคำกล่าวไว้อาลัยให้แก่เนอเทอร์ อะเลกซันดรอฟกล่าวว่าเนอเทอร์เป็นนักคณิตศาสตร์หญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[17]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอ็มมี เนอเทอร์ http://www.matharticles.com/ma/ma069.pdf http://www.digizeitschriften.de/download/PPN235181... http://www.digizeitschriften.de/download/PPN235181... http://www.digizeitschriften.de/download/PPN235181... http://www.digizeitschriften.de/index.php?id=loade... http://owpdb.mfo.de/search?term=noether http://www.physikerinnen.de/noetherlebenslauf.html http://gdz.sub.uni-goettingen.de/index.php?id=11&P... http://gdz.sub.uni-goettingen.de/index.php?id=11&P... http://gdz.sub.uni-goettingen.de/index.php?id=11&P...